เรื่องเล่าเกี่ยวกับแม่พิมพ์แบบต่างๆ ในประสบการณ์ของผู้เขียน
ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับงานแม่พิมพ์ ไม่ว่าจะแม่พิมพ์ฉีดพลาสติก แม่พิมพ์ฉีดอะลูมิเนียม และแม่พิมพ์โลหะ แต่ละชิ้นงานที่ออกมาจากการผลิตในแต่ละกรรมวิธี ล้วนมีความสำคัญของวัสดุขึ้นรูปเป็นสำคัญ ในส่วนของแม่พิมพ์อะลูมิเนียมนั้น หากต้องการให้ชิ้นงานออกมามีคุณภาพ จำเป็นต้องคำนึงถึงกระบวนการผลิตตั้งแต่เริ่มต้นหลอมละลายวัสดุ ความสะอาดของวัสดุหลอมเหลว อุณหภูมิในการหลอมเหลวยิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุดในงานฉีดอะลูมิเนียม
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ผลกระทบที่เกิดในงานฉีดอะลูมิเนียมก็ยิ่งมีมาก ไม่ใช่ว่าหลอมเหลววัสดุในอุณหภูมิที่เคยใช้แล้วชิ้นงานจะออกมาดีเหมือนกันทุกชิ้น แค่อากาศร้อน อากาศเย็น อากาศชื้น ล้วนแล้วแต่มีผลกระทบด้วยกันทั้งนั้น ผู้ที่ทำงานในด้านนี้จึงควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับอุณหภูมิในแต่ละช่วงเวลาที่ต้องการขึ้นรูปชิ้นงาน สังเกตุง่ายๆ ทำไมกะเช้างานที่เซ็ตเครื่องออกมาสามารถรันยาวจนถึงเย็นได้ไม่ค่อยเกิดปัญหาคุณภาพงาน แต่กับกะดึกที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงค่าต่างๆ กลับมีงานเสียมากกว่า นี่ก็เนื่องด้วยผลกระทบจากอุณหภูมินั่นเอง
ดังนั้นการทำงานในงานฉีดอะลูมิเนียม ก็จำเป็นที่จะต้องควบคุมอุณหภูมิให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อผลผลิตที่ดีและไม่เสียเวลาทำงานโดยเปล่าประโยชน์ ถึงแม้ว่าวัสดุที่ใช้จะสามารถนำมาหลอมเหลวใหม่และใช้ได้อีกครั้ง แต่คุณภาพของวัสดุนั้นก็จะด้อยลงจากครั้งแรก หากการเริ่มต้นกระบวนการไม่รักษาความสะอาดของวัสดุแล้วนั้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็จะตามมาเป็นทอดๆ เช่นกัน
ในส่วนของแม่พิมพ์พลาสติก ในประเทศไทยนั้นมีการผลิตงานจากพลาสติกมาเป็นเวลายาวนานกว่างานแม่พิมพ์อะลูมิเนียม ได้มีการทดลอง ทดสอบ งานวิจัยต่างๆ มีมาอย่างมากมายให้ศึกษาเรียนรู้ ทำให้การทำงานเกี่ยวกับงานฉีดพลาสติกมีสิ่งอ้างอิง หรือหลักเกณฑ์ที่ทำให้งานเสียลดลงได้อย่างมาก แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ทำงานด้วยเช่นเดียวกัน หากอ้างอิงแต่ทฤษฎีมากเกินไป โดยไม่เปิดรับผู้ปฏิบัติงานหน้างานที่เคยพบปัญหามาก่อนให้คำแนะนำ ก็จะทำให้เกิดความล่าช้าที่จะได้ผลิตงานดีได้เนื่องจากความไม่เข้าใจ ผู้เขียนเองก็เคยพบเจอมามากเช่นกัน บางครั้งการคลุกคลีอยู่กับหน้างาน จะช่วยแก้ปัญหาได้มากกว่าการนำทฤษฎีอย่างเดียวมาใช้แก้ปัญหา เนื่องด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างในการผลิต ล้วนมีผลกับชิ้นงานที่ต้องการแทบทั้งนั้น
ดังนั้นการทำงานในงานฉีดพลาสติกเอง ก็ยังจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้และศึกษาทั้งปัญหาหน้างาน และนำทฤษฎีต่างๆ มาใช้งานร่วมกัน จะทำให้การทำงานดีขึ้นได้
และในส่วนของงานแม่พิมพ์โลหะ กระบวนการผลิตยิ่งสำคัญ เพราะหากงานเสียแล้วไม่สามารถนำมาหลอมใหม่เหมือนงานพลาสติกและอะลูมิเนียมได้ แต่ชิ้นงานจะกลายเป็นของเสียไปเลย ดังนั้นผู้ที่ทำงานในส่วนของแม่พิมพ์โลหะเอง จึงต้องมีความละเอียดมากก่อนจะเริ่มกระบวนการผลิตแต่ละครั้ง หากก่อนผลิตงานแบบต่อเนื่องก็ควรใช้เศษวัสดุทดลองก่อนรันงานต่อเนื่อง ก็จะช่วยลดงานเสียได้ในระดับหนึ่ง
อย่างที่ได้กล่าวเล่ามาข้างต้นทั้งหมดนี้ คือสิ่งที่ผู้เขียนเคยพบในการทำงานอุตสาหกรรมแต่ละอย่าง อาจไม่ได้เจาะลึกมาก แต่อยากนำความรู้ความเข้าใจที่เคยทำงานมาเป็นพื้นฐานให้กับน้องๆ ที่อาจหาข้อมูลยากหน่อยในงานอะลูมิเนียม ซึ่งความจริงแล้วในงานฉีดอะลูมิเนียมนั้นจะมี Know How ต่างๆ เยอะมาก ผู้เขียนเองก็ไม่สามารถนำมาลงเป็นสาธารณะได้เนื่องด้วยต้องเคารพกับบริษัทที่เคยทำงานมาเช่นกัน ขอให้ผู้อ่านทุกท่านตั้งใจศึกษาที่หน้างาน เรียนรู้กับผู้ที่มีประสบการณ์ในโรงงานของตนเอง เคารพพนักงานทุกระดับชั้น ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแน่นอนค่ะ
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีคนเข้ามาติดตามความรู้ในนี้ต่อไป ผู้เขียนเองก็จะพยายามหางานวิจัยจากต่างประเทศมาแชร์ให้กับทุกท่านเพิ่มเติมต่อไป อาจจะนานๆ เข้ามาอัพบ้าง ก็ขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ด้วยความเคารพ
จากใจผู้เขียน
Tool Engineering
King Mongkut's University of Technology Thonburi
ประวัติการทำงานโดยย่อ
-เคยเป็นวิศวกรในโรงงานฉีดอะลูมิเนียมขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อบริษัทนะคะ
-เคยเป็นวิศวกรออกแบบในโรงงานฉีดพลาสติก
-เคยเป็น Product Engineer ในโรงงานผลิตชิ้นส่วนโลหะในรถยนต์
และอื่นๆ อีกหลายงาน
ฝากหนังสือที่รวบรวมความรู้ไว้ด้วยนะคะ
https://www.mebmarket.com/web/index.php?action=BookDetails&data=YToyOntzOjc6InVzZXJfaWQiO3M6NzoiNTkzNjk5OSI7czo3OiJib29rX2lkIjtzOjY6IjI1NzQyMSI7fQ
"ไม่ว่าจะจบจากที่ไหน จบอะไรมา แต่ทุกคนสามารถทำงานได้ทุกตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย ทำงานด้วยความตั้งใจ ขยันศึกษาเรียนรู้งาน เคารพคนที่ทำงานมาก่อนเสมอไม่ว่าคนคนนั้นจะตำแหน่งต่ำกว่าเราหรือไม่ก็ตาม ผู้เขียนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกคนจะประสบความสำเร็จและมีความสุขในการทำงานแน่นอนค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกท่านค่ะ"