ปัญหาที่เกิดกับแม่พิมพ์ Die Casting(ต่อ)
6.ท่อน้ำหล่อเย็นรั่ว ปัญหานี้จะรวมถึงสายต่อท่อน้ำหล่อเย็นชำรุดด้วยเช่นกัน เนื่องเพราะทั้งสองสาเหตุก็ส่งผลให้น้ำหล่อเย็นรั่วออกมาจากแม่พิมพ์ ปัญหาน้ำหล่อเย็นรั่วไหลออกมาจากแม่พิมพ์ขณะทำการฉีดแม่พิมพ์บนเครื่องฉีดมักจะมีให้เห็นบ่อยครั้ง เนื่องจากไม่มีคนใส่ใจถึงอายุการใช้งานของสายน้ำหล่อเย็นหลังแม่พิมพ์ การออกแบบในส่วนนี้จำเป็นจะต้องป้องกันไม่ให้สายถูกกดทับในขณะฉีดจนฉีกขาด หรือแม้กระทั่งการวางสายน้ำหล่อเย็นในตำแหน่งที่ถูกความร้อนสูงๆ ของแม่พิมพ์ก็ทำให้เป็นสาเหตุของการขาดของสายน้ำหล่อเย็นได้เช่นเดียวกัน ในส่วนที่เป็นท่อทองแดงของท่อน้ำหล่อเย็นมักจะชำรุดในส่วนที่เป็นเกลียว ซึ่งจะต้องมีผ้าเทปพันกันน้ำหล่อเย็นรั่วออกจากแม่พิมพ์ แต่เทปพันหมดอายุหรือเสื่อมสภาพไปก่อนก็ทำให้ท่อน้ำรั่วได้เช่นกัน การป้องกันปัญหานี้จำเป็นจะต้องดูถึงลักษณะการวางสายน้ำหล่อเย็น ว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และทราบถึงอายุการใช้งานของสายน้ำหล่อเย็นและอายุของเทปพันท่อน้ำหล่อเย็นด้วย การแก้ไขปัญหาเมื่อน้ำรั่วออกจากแม่พิมพ์สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนเทปพันและเปลี่ยนสายน้ำหล่อเย็น
7.อะลูมิเนียมพุ่งออกจากแม่พิมพ์ สาเหตุของอะลูมิเนียมพุ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากมีเศษอะลูมิเนียมไปติดที่หน้าแม่พิมพ์ จึงทำให้เกิดช่องว่างในระหว่างการฉีด เมื่ออัดแรงดันน้ำโลหะเข้าสู่แม่พิมพ์ หากมีช่องว่าตรงไหนน้ำโลหะก็จะพุ่งไปในทิศทางนั้นทั้งหมด จึงทำให้อะลูมิเนียมพุ่งออกจากแม่พิมพ์ได้ ส่วนอีกสาเหตุเกิดจากหน้าแม่พิมพ์ไม่เรียบหรือสึกหรอไปเนื่องจากอายุการใช้งานของแม่พิมพ์ การตรวจสอบแม่พิมพ์ก่อนขึ้นฉีดจำเป็นจะต้องตรวจความฟิตของหน้าแม่พิมพ์ก่อนเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาอะลูมิเนียมพุ่งออกจากแม่พิมพ์ในขณะฉีด การแก้ไขหากมีเศษอะลูมิเนียมติดที่หน้าแม่พิมพ์ก็ทำการแซะออกหรือหากติดแน่นก็ใช้หินขัดขัดออก แต่หากหน้าแม่พิมพ์สึกหรอให้ฟิตหน้าแม่พิมพ์ใหม่ดูตำแหน่งที่สึกหรอแล้วทำการเชื่อมขัดให้เรียบเสมอกันกับหน้าแม่พิมพ์ ซึ่งการแก้ไขหน้าแม่พิมพ์นี้จำเป็นจะต้องใช้ความละเอียดในการทำงาน เพราะหากแก้ไขออกมาแล้วทำให้ส่วนอื่นไม่เรียบเสมอกันก็จะเป็นปัญหาไปอีกไม่จบ บางกรณีสามารถส่งแม่พิมพ์กลับไปให้ช่างทำแม่พิมพ์ปาดหน้าผิวแม่พิมพ์ให้ใหม่ได้ แต่ไม่แนะนำ เนื่องจากหากปาดหน้าบ่อยๆ แล้วทำให้ความหนารวมของแม่พิมพ์หายไปจนส่งผลต่อการนำแม่พิมพ์ขึ้นเครื่องฉีด ยิ่งจะทำการแก้ไขยากขึ้นจนอาจต้องสั่งทำแม่พิมพ์ใหม่ก็ได้
8.ขอบชิ้นงานเกิดครีบหนา ปัญหานี้เกิดจากขอบของชิ้นงานหรือโพรงส่วนที่เป็นโครงสึกหรอ สาเหตุนี้มักเกิดขึ้นบ่อยเช่นกัน เนื่องจากขอบจะถูกแรงดันอัดกระแทกอยู่ตลอดเวลาเมื่อเริ่มรอบการฉีดทุกครั้ง ทำให้เกิดการสึกกร่อนไปเรื่อยๆ จนเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะทำให้เกิดครีบหน้าที่ชิ้นงาน เนื่องจากขอบบิ่นหรือสึกไปแล้ว การแก้ไขปัญหานี้จะต้องทำการเชื่อมขอบแล้วขัดแม่พิมพ์ให้อยู่ในลักษณะเดิม โดยเมื่อขัดแล้วจะต้องขึ้นฉีดทดสอบและวัดค่าชิ้นงานว่าตรงตามแบบหรือไม่ หากไม่ตรงจะต้องขัดตกแต่งใหม่จนกว่าจะได้ค่าที่ตรงตามแบบ ผู้ที่ต้องแก้ไขปัญหานี้จะต้องมีความชำนาญเป็นอย่างมากในการตกแต่งแม่พิมพ์ไม่ให้ชิ้นงานเสียรูป
9.Limit Switch เสีย ปัญหานี้เกิดในแม่พิมพ์ที่มี Slide Core เนื่องจากการใช้ Slide Core จำเป็นจะต้องใช้ระบบไฮดรอลิกช่วยในการเคลื่อนที่ และ Limit Switch เป็นตัวควบคุมเพื่อเชื่อมต่อคำสั่งควบคุมจากเครื่องจักรมาสู่ Slide Core อีกต่อหนึ่ง หาก Limit Switch เสียแล้วก็จะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของ Slide Core ได้ สาเหตุส่วนใหญ่ที่ Limit Switch เสียมักเกิดจากมีน้ำเข้าไปในส่วนที่เป็นสายไฟ หรือสายไฟขาด เป็นต้น การแก้ไขปัญหาจำเป็นจะต้องเปลี่ยน Limit Switch ใหม่ทันที ในกรณีที่แม่พิมพ์จำเป็นจะต้องฉีดงานต่อ แต่หากแม่พิมพ์ยังไม่จำเป็นต้องใช้งาน ก็สามารถนำ Limit Switch มาตรวจซ่อมได้เช่นกัน
10.Vaccum ตัน ปัญหานี้จะเกิดในแม่พิมพ์ที่จำเป็นต้องใช้ Vaccum ในการช่วยดูดอากาศส่วนเกินออกจากแม่พิมพ์ ในชิ้นงานที่จำเป็นจะต้องป้องกันปัญหาการรั่วของชิ้นงานภายหลัง Machine การดูแล Vaccum ต้องหมั่นตรวจสอบการดูดอากาศว่ายังใช้ได้ดีอยู่เสมอ หากซีลเริ่มเสื่อมสภาพให้ทำการเปลี่ยนก่อนขึ้นฉีดแม่พิมพ์ทุกครั้ง เนื่องจากอาจเกิดความผิดพลาดในการดูดอากาศจนทำให้ดูดน้ำโลหะเข้ามาแทนที่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของ Vaccum ตัน อีกสาเหตุคือการตั้งค่าแรงดันฉีดมากเกินไปทำให้น้ำโลหะพุ่งเกินเข้าไปในส่วนที่เป็น Vaccum และอีกสาเหตุมาจากการที่ทางเดินของอากาศมีขนาดใหญ่เกินไปทำให้มีน้ำโลหะไหลเกินเข้าไปใน Vaccum การแก้ไขทำได้โดยแซะอะลูมิเนียมออกจาก Vaccum ตรวจสอบความเสียหายของ Vaccum แล้วทำการซ่อมแซม หากเกิดจากทางไหลของอากาศที่ชำรุดหรือขนาดใหญ่เกินไปให้ทำการเชื่อมขัดตกแต่งทางไหลให้มีขนาดเหมาะสม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น