วันพฤหัสบดีที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาที่เกิดกับแม่พิมพ์ Die Casting(ต่อ)

ปัญหาที่เกิดกับแม่พิมพ์ Die Casting(ต่อ)
6.ท่อน้ำหล่อเย็นรั่ว ปัญหานี้จะรวมถึงสายต่อท่อน้ำหล่อเย็นชำรุดด้วยเช่นกัน เนื่องเพราะทั้งสองสาเหตุก็ส่งผลให้น้ำหล่อเย็นรั่วออกมาจากแม่พิมพ์ ปัญหาน้ำหล่อเย็นรั่วไหลออกมาจากแม่พิมพ์ขณะทำการฉีดแม่พิมพ์บนเครื่องฉีดมักจะมีให้เห็นบ่อยครั้ง เนื่องจากไม่มีคนใส่ใจถึงอายุการใช้งานของสายน้ำหล่อเย็นหลังแม่พิมพ์ การออกแบบในส่วนนี้จำเป็นจะต้องป้องกันไม่ให้สายถูกกดทับในขณะฉีดจนฉีกขาด หรือแม้กระทั่งการวางสายน้ำหล่อเย็นในตำแหน่งที่ถูกความร้อนสูงๆ ของแม่พิมพ์ก็ทำให้เป็นสาเหตุของการขาดของสายน้ำหล่อเย็นได้เช่นเดียวกัน ในส่วนที่เป็นท่อทองแดงของท่อน้ำหล่อเย็นมักจะชำรุดในส่วนที่เป็นเกลียว ซึ่งจะต้องมีผ้าเทปพันกันน้ำหล่อเย็นรั่วออกจากแม่พิมพ์ แต่เทปพันหมดอายุหรือเสื่อมสภาพไปก่อนก็ทำให้ท่อน้ำรั่วได้เช่นกัน การป้องกันปัญหานี้จำเป็นจะต้องดูถึงลักษณะการวางสายน้ำหล่อเย็น ว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และทราบถึงอายุการใช้งานของสายน้ำหล่อเย็นและอายุของเทปพันท่อน้ำหล่อเย็นด้วย การแก้ไขปัญหาเมื่อน้ำรั่วออกจากแม่พิมพ์สามารถทำได้โดยการเปลี่ยนเทปพันและเปลี่ยนสายน้ำหล่อเย็น
7.อะลูมิเนียมพุ่งออกจากแม่พิมพ์ สาเหตุของอะลูมิเนียมพุ่งโดยส่วนใหญ่มักเกิดจากมีเศษอะลูมิเนียมไปติดที่หน้าแม่พิมพ์ จึงทำให้เกิดช่องว่างในระหว่างการฉีด เมื่ออัดแรงดันน้ำโลหะเข้าสู่แม่พิมพ์ หากมีช่องว่าตรงไหนน้ำโลหะก็จะพุ่งไปในทิศทางนั้นทั้งหมด จึงทำให้อะลูมิเนียมพุ่งออกจากแม่พิมพ์ได้ ส่วนอีกสาเหตุเกิดจากหน้าแม่พิมพ์ไม่เรียบหรือสึกหรอไปเนื่องจากอายุการใช้งานของแม่พิมพ์ การตรวจสอบแม่พิมพ์ก่อนขึ้นฉีดจำเป็นจะต้องตรวจความฟิตของหน้าแม่พิมพ์ก่อนเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาอะลูมิเนียมพุ่งออกจากแม่พิมพ์ในขณะฉีด การแก้ไขหากมีเศษอะลูมิเนียมติดที่หน้าแม่พิมพ์ก็ทำการแซะออกหรือหากติดแน่นก็ใช้หินขัดขัดออก แต่หากหน้าแม่พิมพ์สึกหรอให้ฟิตหน้าแม่พิมพ์ใหม่ดูตำแหน่งที่สึกหรอแล้วทำการเชื่อมขัดให้เรียบเสมอกันกับหน้าแม่พิมพ์ ซึ่งการแก้ไขหน้าแม่พิมพ์นี้จำเป็นจะต้องใช้ความละเอียดในการทำงาน เพราะหากแก้ไขออกมาแล้วทำให้ส่วนอื่นไม่เรียบเสมอกันก็จะเป็นปัญหาไปอีกไม่จบ บางกรณีสามารถส่งแม่พิมพ์กลับไปให้ช่างทำแม่พิมพ์ปาดหน้าผิวแม่พิมพ์ให้ใหม่ได้ แต่ไม่แนะนำ เนื่องจากหากปาดหน้าบ่อยๆ แล้วทำให้ความหนารวมของแม่พิมพ์หายไปจนส่งผลต่อการนำแม่พิมพ์ขึ้นเครื่องฉีด ยิ่งจะทำการแก้ไขยากขึ้นจนอาจต้องสั่งทำแม่พิมพ์ใหม่ก็ได้
8.ขอบชิ้นงานเกิดครีบหนา ปัญหานี้เกิดจากขอบของชิ้นงานหรือโพรงส่วนที่เป็นโครงสึกหรอ สาเหตุนี้มักเกิดขึ้นบ่อยเช่นกัน เนื่องจากขอบจะถูกแรงดันอัดกระแทกอยู่ตลอดเวลาเมื่อเริ่มรอบการฉีดทุกครั้ง ทำให้เกิดการสึกกร่อนไปเรื่อยๆ จนเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งก็จะทำให้เกิดครีบหน้าที่ชิ้นงาน เนื่องจากขอบบิ่นหรือสึกไปแล้ว การแก้ไขปัญหานี้จะต้องทำการเชื่อมขอบแล้วขัดแม่พิมพ์ให้อยู่ในลักษณะเดิม โดยเมื่อขัดแล้วจะต้องขึ้นฉีดทดสอบและวัดค่าชิ้นงานว่าตรงตามแบบหรือไม่ หากไม่ตรงจะต้องขัดตกแต่งใหม่จนกว่าจะได้ค่าที่ตรงตามแบบ ผู้ที่ต้องแก้ไขปัญหานี้จะต้องมีความชำนาญเป็นอย่างมากในการตกแต่งแม่พิมพ์ไม่ให้ชิ้นงานเสียรูป
9.Limit Switch เสีย ปัญหานี้เกิดในแม่พิมพ์ที่มี Slide Core เนื่องจากการใช้ Slide Core จำเป็นจะต้องใช้ระบบไฮดรอลิกช่วยในการเคลื่อนที่ และ Limit Switch เป็นตัวควบคุมเพื่อเชื่อมต่อคำสั่งควบคุมจากเครื่องจักรมาสู่ Slide Core อีกต่อหนึ่ง หาก Limit Switch เสียแล้วก็จะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของ Slide Core ได้ สาเหตุส่วนใหญ่ที่ Limit Switch เสียมักเกิดจากมีน้ำเข้าไปในส่วนที่เป็นสายไฟ หรือสายไฟขาด เป็นต้น การแก้ไขปัญหาจำเป็นจะต้องเปลี่ยน Limit Switch ใหม่ทันที ในกรณีที่แม่พิมพ์จำเป็นจะต้องฉีดงานต่อ แต่หากแม่พิมพ์ยังไม่จำเป็นต้องใช้งาน ก็สามารถนำ Limit Switch มาตรวจซ่อมได้เช่นกัน
10.Vaccum ตัน ปัญหานี้จะเกิดในแม่พิมพ์ที่จำเป็นต้องใช้ Vaccum ในการช่วยดูดอากาศส่วนเกินออกจากแม่พิมพ์ ในชิ้นงานที่จำเป็นจะต้องป้องกันปัญหาการรั่วของชิ้นงานภายหลัง Machine การดูแล Vaccum ต้องหมั่นตรวจสอบการดูดอากาศว่ายังใช้ได้ดีอยู่เสมอ หากซีลเริ่มเสื่อมสภาพให้ทำการเปลี่ยนก่อนขึ้นฉีดแม่พิมพ์ทุกครั้ง เนื่องจากอาจเกิดความผิดพลาดในการดูดอากาศจนทำให้ดูดน้ำโลหะเข้ามาแทนที่ได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของ Vaccum ตัน อีกสาเหตุคือการตั้งค่าแรงดันฉีดมากเกินไปทำให้น้ำโลหะพุ่งเกินเข้าไปในส่วนที่เป็น Vaccum และอีกสาเหตุมาจากการที่ทางเดินของอากาศมีขนาดใหญ่เกินไปทำให้มีน้ำโลหะไหลเกินเข้าไปใน Vaccum การแก้ไขทำได้โดยแซะอะลูมิเนียมออกจาก Vaccum ตรวจสอบความเสียหายของ Vaccum แล้วทำการซ่อมแซม หากเกิดจากทางไหลของอากาศที่ชำรุดหรือขนาดใหญ่เกินไปให้ทำการเชื่อมขัดตกแต่งทางไหลให้มีขนาดเหมาะสม

วันพุธที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปัญหาที่เกิดกับแม่พิมพ์ Die Casting

ปัญหาที่เกิดจากงาน Die Casting
ปัญหาจากการทำงาน Die Casting ที่หน้้างานมีให้เห็นอยู่มากมายหลายชนิด ทั้งที่เกิดขึ้นกับแม่พิมพ์ ชิ้นงาน และแม้แต่กระทั่งเครื่องฉีดก็มีผลทำให้เกิดปัญหาในการทำงาน Die Casting ขึ้นทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละปัญหาก็จะมีแนวทางแก้ไขที่แตกต่างกัน ผู้ทำงานในด้าน Die Casting ต้องศึกษาและเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหาเสียก่อน จึงจะสามารถนำปัญหาเหล่านั้นมาทำการแก้ไขต่อไปได้ ปัญหาที่เกิดกับแม่พิมพ์ Die Casting มีตัวอย่างดังนี้

1.เศษอะลูมิเนียมติดภายในแม่พิมพ์ ปัญหานี้สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ในการทำงานฉีดอะลูมิเนียม เนื่องจากอุณหภูมิที่ผิดปกติ หรือการล้างหน้าแม่พิมพ์ไม่ตรงจุด ก็สามารถทำให้เศษที่่มาจากการฉีดยังติดอยู่ที่แม่พิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นเศษบางหรือเล็กขนาดไหน ก็จะทำให้ชิ้นงานที่ออกมาไม่ตรงตามความต้องการ ซึ่งปัญหานี้มักเกิดจากการฉีดงานเป็นเวลานานๆ หรือแม้กระทั่งแม่พิมพ์มีส่วนที่แตกหรือสึก ก็ทำให้เกิดปัญหาการมีอะลูมิเนียมติดแม่พิมพ์ขณะทำการฉีดได้ ซึ่ง
การแก้ไขปัญหานี้คือการขัดแม่พิมพ์โดยใช้หินขัดขัดไปที่ส่วนที่มีอะลูมิเนียมติดอยู่ให้หลุดออกจากแม่พิมพ์ จากนั้นจึงจะสามารถฉีดชิ้นงานต่อไปได้
2.ชิ้นงานติดแม่พิมพ์ขณะฉีด ปัญหานี้หากไม่มีพนักงานคอยดูเสมออาจทำให้แม่พิมพ์เสียหายหนักได้ เพราะเมื่อชิ้นงานติดแม่พิมพ์แล้วเซ็นเซอร์ไม่ทำการตัดหยุดเครื่องอัตโนมัติ หากเครื่องยังทำงานต่อโดยการปิดแม่พิมพ์แล้วฉีดซ้ำก็จะทำให้แม่พิมพ์แตกได้ ปัญหาชิ้นงานติดแม่พิมพ์ส่วนใหญ่มักเกิดกับแม่พิมพ์ที่มีลักษณะซับซ้อนและมี Core Pin หลายตัว หรือ Core Pin ที่มีขนาดเล็ก จนทำให้มีเศษบางๆ เคลือบอยู่รอบ Core Pin เมื่อฉีดในรอบถัดไปก็จะทำให้ชิ้นงานติดแม่พิมพ์ได้ง่าย ปัญหานี้จะต้องแก้ไขโดยการตั้งท่อของ Cassete Sprey ให้ตรงตำแหน่ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีเศษอะลูมิเนียมติดที่ Core Pin และหมั่นตรวจสอบ Core Pin ตามรอบอายุการใช้งาน เนื่องจากหาก Core Pin หมดคุณสมบัติของการลื่นไหลแล้วก็จะทำให้เกิดปัญหานี้ได้บ่อยครั้ง
3.แม่พิมพ์แตก ปัญหานี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นจากสาเหตุข้อ 2 หรือข้อ1 ก็สามารถทำให้เกิดปัญหานี้ได้ และโดยส่วนใหญ่แล้วหากอายุการใช้งานของแม่พิมพ์มากเกินไปก็ทำให้แม่พิมพ์แตกได้เช่นกัน การป้องกันปัญหานี้คือต้องตรวจสอบอายุการใช้งานของแม่พิมพ์ให้แม่นยำ เนื่องจากการฉีดงานที่อุณหภูมิสูงจะทำให้อายุการใช้งานของแม่พิมพ์นั้นสั้นลงเร็วกว่าแม่พิมพ์ชนิดอื่นๆ และป้องกันปัญหาจากข้อ 1 และ 2 ให้ได้ ก็จะช่วยเพิ่มอายุการใช้งานและลดปัญหาแม่พิมพ์แตกก่อนเวลาได้อีกด้วย ส่วนการแก้ไขปัญหาแ่ม่พิมพ์แตกสามารถทำได้โดยการเชื่อมจุดที่แตก แล้วทำการขัดตกแต่งแม่พิมพ์ให้อยู่ในสภาพเดิม
4.Core Pin หัก แหว่งหรือคด ปัญหานี้มักเกิดกับ Core Pin ที่มีขนาดเล็กและอยู่ในตำแหน่งที่ลึกที่สุดของชิ้นงาน การป้องกันปัญหานี้จะต้องทราบอายุการใช้งานของ Core Pin และหมั่นตรวจสอบอยู่เสมอเพื่อป้องกันเศษอะลูมิเนียมติดอยู่ที่ Core Pin จนอาจเกิดการหักงอตามมาได้ การแก้ไขในส่วนนี้จำเป็นจะต้องเปลี่ยน Core Pin ใหม่ หากเป็น Core Pin แบบไม่สามารถเปลี่ยนได้ จะต้องทำการออกแบบใหม่โดยทำการเจาะส่วนที่เป็น Core Pin และพื้นที่รอบข้างที่สามารถเจาะได้ แล้วเปลี่ยนส่วนนั้นให้เป็นแบบถอดเปลี่ยนได้ เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมแซมแม่พิมพ์หากเกิดปัญหานี้ซ้ำในจุดเดิม แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว Core Pin ส่วนที่มักจะเกิดปัญหาจะถูกออกแบบให้สามารถถอดเปลี่ยนได้เสมอ
5.Ejector Pin สูงหรือต่ำเกินไป ปัญหาของ Ejector Pin อาจมีสาเหตุการเกิดได้หลายทางไ่ม่ว่าจะเป็นจากเครื่องจักร หรือการสึกหรอของ Ejector Pin เอง การตรวจสอบเบื้องต้นคือให้วางแม่พิมพ์ในแนวราบเพื่อตรวจสอบว่ามี Ejector Pin ในตำแหน่งใดบ้างที่สูงหรือต่ำเกินไปหรือไม่ เพราะการใช้ Ejector Pin เป็นระยะเวลานาน ก็สามารถเกิดการสึกหรอหรือคดงอของ Ejector Pinที่มีขนาดเล็กได้ หากพบว่ามี Ejector Pin ที่ผิดปกติ สามารถแก้ไขโดยการเปลี่ยน Ejector Pin ตัวนั้นออกไป แล้วนำตัวใหม่ที่มีความยาวตามมาตรฐานมาใส่แทน

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Die Casting Structure

Die Casting Structure

ลักษณะของแม่พิมพ์ฉีดอะลูมิเนียม
แม่พิมพ์ฉีดอะลูมิเนียมและแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกจะมีส่วนประกอบคล้ายกัน แต่ในแม่พิมพ์ฉีดอะลูมิเนียมนั้นจะเน้นการสร้าง Over Flow เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาคุณภาพขึ้นภายในชิ้นงานอะลูมิเนียม เนื่องจากลักษณะของวัสดุที่แตกต่างกันระหว่างอะลูมิเนียมและพลาสติก ทำให้เกรนของอะลูมิเนียมมีความหนาแน่นแตกต่างจากพลาสติกเป็นอย่างมาก หากไม่ระมัดระวังในการสร้างแม่พิมพ์ฉีดอะลูมิเนียมในหลายๆ ปัจจัย ก็อาจก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองเวลาฉีดงานเพื่อแก้ไขชิ้นงานใหม่อีกหลายครั้ง สำหรับชิ้นงานที่มีลักษณะซับซ้อน การสร้างแม่พิมพ์ฉีดอะลูมิเนียมยิ่งจะต้องให้ความสำคัญกับทุกๆ ส่วนเป็นอย่างมาก จากรูปเป็นตัวอย่างแม่พิมพ์ฉีดอะลูมิเนียมที่ไม่ซับซ้อนมากนัก
แต่ประกอบไปด้วยส่วนที่สำคัญดังนี้














1.Gate เกททางเข้าของอะลูมิเนียม มีหน้าทำนำพาน้ำโลหะเข้ามาสู่โพรงแบบภายในแม่พิมพ์
2.Runner เป็นทางวิ่งของน้ำโลหะภายในแม่พิมพ์ ซึ่งลักษณะของการออกแบบต้องคำนึงถึงแรงวิ่งของน้ำโลหะเพื่อที่จะสามารถไหลเข้าเต็มแม่พิมพ์ได้ หากคำนวณขนาดใหญ่หรือเล็กเกินไป ก็จะเกิดปัญหาในการฉีดได้
3.Over Flow เป็นส่วนเกินของน้ำโลหะที่สามารถไหลเข้าไปในส่วนนี้ เพื่อแก้ปัญหาการฉีดงานไม่เต็มแบบได้ อีกทั้งลดปัญหาการเกิด Blow Hole ภายในชิ้นงาน แต่หากออกแบบ Over Flow ให้มีจำนวนมากเกินความจำเป็น ก็จะทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายของวัสดุ การสร้างส่วนของ Over Flow ต้องคำนึงถึงขอบของชิ้นงานเป็นหลัก หากความแข็งแรงของขอบน้อยเกินไป แต่ Over Flow ใหญ่เกินไป เมื่อทำการเคาะออกจะทำให้ชิ้นงานแตกหัก หรือบิ่นไปได้
4.Core เป็นส่วนที่สร้างขึ้นในส่วนของชิ้นงานที่มีรู การสร้าง Core มีทั้งแบบถอดเปลี่ยนได้และแบบเปลี่ยนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่สามารถวาง Core ลงในส่วนของแม่พิมพ์ หากสร้าง Core ที่ไม่สามารถถอดแก้ไขได้ ก็จำเป็นจะต้องมั่นใจว่าอายุการใช้งานของ Core จะไม่น้อยกว่าอายุการใช้งานของแม่พิมพ์เด็ดขาด ดังนั้นค่าเผื่อของการสร้างCore แบบตายตัวจะต้องเผื่อให้มากกว่าอายุของแม่พิมพ์ หากสร้าง Core ที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ ก็จะตัดปัญหาเมื่อ Core หัก หรือสึกหรอจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ วัสดุที่ใช้ทำ Core จะต้องมีความสามารถในการไหลตัวได้ดี เนื่องจากหากไม่มีความสามารถนี้แล้วเมื่อทำการถอดชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ก็อาจทำให้ชิ้นงานติดอยู่ในแม่พิมพ์ในส่วน Core ได้ การวาง Core แต่ละตำแหน่งในแม่พิมพ์ต้องไม่ให้กระทบถึงการหล่อเย็นของชิ้นงานภายในแม่พิมพ์อีกด้วย
5.Chill Vent เป็นส่วนที่ใช้ระบายอากาศส่วนเกินที่มากับน้ำโลหะ และส่วนเกินจากการอัดแรงเพื่อฉีดน้ำโลหะเข้าให้เต็มแม่พิมพ์ หากไม่มีส่วนนี้ชิ้นงานจะเกิดปัญหา Blow Hole ได้มาก และอาจทำให้ชิ้นงานไม่เต็มแบบได้อีกด้วย ส่วนของ Chill Vent สามารถใช้ Air Vent ในการช่วยดูดซับอากาศออกจากชิ้นงานได้ โดยเพิ่ม Vaccum เข้าไปในแม่พิมพ์ เพื่อที่ในจังหวะฉีดและน้ำโลหะเริ่มไหลตัว Vaccum จะช่วยดูดอากาศออกได้อีกทางหนึ่งด้วย แต่ควรระมัดระวังหากออกแบบให้มีช่องว่างมากเกินไป เมื่อฉีดอะลูมิเนียมเข้าไปแล้้วแทนที่ Vaccum จะดูดอากาศอย่างเดียว แต่อาจดูดเอาน้ำอะลูมิเนียมพุ่งออกจากแม่พิมพ์ได้
6.Slide Core เป็นส่วนของแม่พิมพ์ที่สามารถเคลื่อนไหวได้โดยการใช้ไฮดรอลิกควบคุม ซึ่งการสร้าง Slide Core ก็เนื่องจากลักษณะของชิ้นงานที่มีรูอยู่ในส่วนที่ไม่สามารถใส่ Core เข้าไปได้ ส่วนของ Slide Core ต้องสัมพันธ์กับรูปร่างภายนอกของชิ้นงานเป็นอย่างดี หากมีระยะห่างเกิดขึ้นก็จะทำให้ชิ้นงานเกิดครีบในส่วนที่มี Slide Core ได้
7.Ejector Pin เป็นส่วนที่ใช้กระทุ้งชิ้นงาน Chill vent , Air vent , runner และOver Flow ออกจากแม่พิมพ์ การออกแบบ Ejector ต้องคำนึงถึงตำแหน่งในการวางให้ดี เนื่องจากหากวางผิดตำแหน่งแล้วอาจเกิดปัญหาชิ้นงานยุบตัวได้ ความสำคัญของ Ejector Pin จะต้องมีผิวหน้าเท่ากับผิวหน้าของชิ้นงานหรือส่วนนั้นๆ หาก Ejector Pin ต่ำหรือสูงเกินไป ก็จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพงานได้หลังการฉีด
8.ทางเดินของน้ำหล่อเย็น ทางเดินของน้ำหล่อเย็นภายในแม่พิมพ์จะต้องไม่สร้างความเปราะบางให้กับตัวแม่พิมพ์มากเกินไป เพราะจะเป็นการลดอายุของแม่พิมพ์ลง และทำให้คุณสมบัติของชิ้นงานไม่ดี ปัญหาของท่อและสายน้ำหล่อเย็นจะเกิดขึ้นบ่อยกับการใช้แม่พิมพ์อะลูมิเนียม เนื่องจากต้องฉีดที่อุณหภูมิสูง จึงต้องคำนวณเวลาการเปลี่ยนสายและการตันของท่อน้ำหล่อเย็นให้ดี เพื่อทำการเปลี่ยนก่อนมีปัญหาเมื่อขึ้นฉีดงานระหว่างผลิต
ส่วนประกอบทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สำคัญของแม่พิมพ์ฉีดอะลูิมิเนียมเท่านั้น ยังมีส่วนประกอบย่อยที่มีลักษณะคล้ายกับส่วนประกอบของแม่พิมพ์ฉีดพลาสติกซึ่งรู้จักกันแพร่หลายอยู่แล้ว จะเห็นได้ว่าการออกแบบแม่พิมพ์อะลูมิเนียมจะต้องคำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับความร้อน และอายุการใช้งานของแต่ละชิ้นส่วนเป็นสำคัญ หากเลือกวัสดุในการทำแม่พิมพ์ที่คุณภาพต่ำเกินไปก็จะทำให้อาุยุการใช้งานของแม่พิมพ์สั้นลงไปมาก แต่การใช้งานของแม่พิมพ์ฉีดอะลูมิเนียมจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการบำรุงรักษาแม่พิมพ์เป็นสำคัญ หากละเลยการตรวจสอบก็จะทำให้เกิดปัญหาในการผลิตมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นจะต้องวางแผนการตรวจสอบก่อนนำแม่พิมพ์ขึ้นผลิตให้ถูกต้องและตรงตามเวลาการบำรุงรักษา เพื่อลดค่าการสูญเปล่าในการซ่อมแม่พิมพ์และค่าความสูญเปล่าในการผลิตชิ้นงานเสียออกมาอีกด้วย

ขอขอบคุณรูปภาพตัวอย่างแม่พิมพ์จากบริษัท International Casting Co.,Ltd

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Cassete Sprey(Continue)

Cassete Sprey(continue)

หลังจากประกอบ Cassete Sprey แล้วทำการทดลองฉีดอีกครั้ง พบว่าผลการใช้ Cassete Sprey ตัวใหม่ช่วยลดอุณหภูมิในจุดที่มีปัญหาลงได้ ดังรูป






และจากผลการทดลองในครั้งนี้ทำให้ลดจำนวนการขัดแม่พิมพ์ลงประมาณ 30% ทำให้พนักงานที่มีหน้าที่ในการขัดแม่พิมพ์ขณะฉีดงานมีเวลาในการตรวจสอบและแก้ไขแม่พิมพ์ตัวอื่นที่ยังมีปัญหา ให้สามารถใช้งานได้ในขณะทำการผลิต อีกทั้งช่วยลดปัญหา Blister ที่เกิดขึ้นในบางจุดที่อุณหภูมิของแม่พิมพ์สูงเกินไปได้มาก ทำให้ค่าใช้จ่ายในการผลิตชิ้นงานต่ำลงไม่ต้องทำการผลิตชิ้นงานแทนส่วนที่เสียไป

จะเห็นได้ว่าจากการคำนึงถึงความสามารถในการทำงานของ Cassete Sprey จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการผลิตลงได้อีกเยอะ และคุณภาพของชิ้นงานที่ได้ก็ดีขึ้นมาก หากต้องการคงคุณภาพของชิ้นงานอะลูมิเนียมไว้ จำเป็นจะต้องคำนึงถึงปัจจัยในการฉีดชิ้นงานอีกหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเกิดครีบในชิ้นงาน เกิดรอยแตกในชิ้นงาน เกิด Blow Hole ในชิ้นงานอีกเป็นต้น ซึ่งสาเหตุและวิธีการแก้ไขก็มีหลากหลาย แต่เพื่อให้เกิดการป้องกันก่อนการเกิดปัญหานั้นๆ ขึ้น จำเป็นจะต้องทำการ Preventive Maintenance แม่พิมพ์ก่อนนำไปผลิตชิ้นงานก่อนเสมอ เพื่อลดเวลาในการซ่อมแม่พิมพ์และลดเวลาสูญเสียจากการซ่อมแม่พิมพ์ที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาดังที่ได้กล่าวไปแล้ว















วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Cassete Sprey

Cassete Sprey

Cassete Sprey เป็นส่วนประกอบหนึ่งในการทำงานกับเครื่องฉีดอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการหล่อเย็นแม่พิมพ์ เพื่อให้อุณหภูมิก่อนการฉีดคงที่ก่อนการเริ่มรอบการฉีดครั้งต่อไป การฉีดอะลูมิเนียมจะแตกต่างจากการฉีดแ่ม่พิมพ์พลาสติกที่มีทั้งการหล่อเย็นภายนอกและภายในแม่พิมพ์ เพื่อลดอุณหภูมิให้ได้ตามที่ต้องการจึงจำเป็นต้องใช้ Cassete Sprey ในการช่วยหล่อเย็น สำหรับแม่พิมพ์ที่ซับซ้อนยิ่งไม่สามารถที่จะใช้ Cassete Sprey แบบปกติได้ จำเป็นจะต้องออกแบบให้สามารถหล่อเย็นในส่วนที่จำเป็นต้องลดอุณหภูมิให้เพียงพอเพื่อป้องกันปัญหา Blister(การบวมของอะลูมิเนียมหลังการฉีดเนื่องจากอุณหภูมิภายในแม่พิมพ์สูงเกินไป) และปัญหาการขัดแม่พิมพ์บ่อยๆเนื่องจากอะลูมิเนียมติดแม่พิมพ์โดยที่การใช้ Cassete Sprey หล่อเย็นและชะล้างหน้าแม่พิมพ์ได้ไม่หมด

ตัวอย่างการออกแบบ Cassete Sprey และผลการทดลองการใช้ Cassete Sprey แบบใหม่
ลักษณะของชิ้นงานเดิม


จะเห็นได้ว่ามาตรฐานเดิมของ Cassete Sprey ไม่สามารถชะล้างเศษอะลูมิเนียมที่ติดแม่พิมพ์หลังการฉีดได้หมด และอุณหภูมิในส่วนนั้นยังร้อนอยู่โดยดูได้จากภาพถ่ายความร้อนก่อนการเปลี่ยน Cassete Sprey แบบใหม่ตามรูป






เมื่อพบจุดที่ต้องการแก้ไขทั้งหมดแล้วให้ทำการออกแบบ Cassete Sprey แบบใหม่ที่สามารถเข้าถึงจุดที่ซับซ้อนและที่เป็นปัญหานั้นได้ทั้งหมด โดยต้องทำการมาร์คจุดต่างๆ ในแบบให้ครบถ้วนก่อน ซึ่งการมาร์คต้องคำนึงถึงขนาดของท่อที่ใช้ฉีดน้ำหล่อเย็นเป็นสำคัญ ในบางจุดจำเป็นที่จะต้องใช้ท่อลักษณะพิเศษเพื่อเพิ่มความสามารถในการชะล้างหน้าแม่พิมพ์ให้มีประสิทธิภาพที่สุด ดังรูปจะแสดงถึงการมาร์คจุดจากแบบก่อนสั่งทำ Cassete Sprey







หลังจากมาร์คจุดเรียบร้อยแล้วก็สั่งผลิตกับบริษัทที่รับผลิต ซึ่งค่าเผื่อสำหรับการทำ Cassete Sprey นั้นไม่จำเป็นต้องใช้ค่าความละเอียดที่มากเกินความจำเป็น เพราะจะทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็นได้
เมื่อทำการสั่งผลิตเรียบร้อยแล้ว ก็ต้องมาทำการสั่งท่อทองเหลืองแบบพิเศษเพื่อติดตั้งเข้ากับส่วนที่เป็นโครงของ Cassete Sprey ซึ่งลักษณะของท่อจะมีหลายแบบดังรูป





เมื่อได้ส่วนประกอบครบแล้วก็ทำการประกอบ Cassete Sprey เพื่อทดลองใช้งานดูว่าตำแหน่งในการฉีดพ่นน้ำหล่อเย็นคลาดเคลื่อนไปหรือไม่ ดังรูปภาพการประกอบด้านล่าง